การขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ บางครั้งก็เกิดอุบัติเหตุรถล้ม เชี่ยวชนบ้างเป็นธรรมดา เมื่อเกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย สิ่งที่ตามมาคือ บาดแผล จากการที่รถสไลด์ไปกับพื้นถนน
มีวิธีการปฏิบัติ เมื่อมีบาดแผลจากรถล้ม เพื่อไม่ให้แผลเกิดการอักเสบและติดเชื้อ ดังนี้
- รีบทำความสะอาดแผล หากแผลลึกหรือเป็นแผลกว้าง ควรรีบไปโรงพยาบาล คลินิก หรือสถานีอนามัยใกล้บ้าน ให้แพทย์ตรวจดูแผลเบื้องต้นก่อน แผลบางชนิด แพทย์อาจจะสั่งไม่ต้องมาล้างแผลที่โรงพยาบาลทุกครั้ง แต่หากมีเลือดซึมออกมาให้มาเปิดแผลล้างได้
- ระวังอย่าให้แผลเปียกชื้น หรือโดนน้ำ เพราะอาจจะทำให้เกิดการอักเสบ ติดเชื้อได้ หากผ้าพันแผลชื้นสกปรกควรทำความสะอาดแผลใหม่ทันที
- กรณีบาดแผลอยู่บริเวณแขน ขา มือ และเท้า ควรยกให้สูงกว่าหัวใจเพื่อลดอาการบวม
- พักผ่อนให้เพียงพอ ลดการเคลื่อนไหวที่อาจทำให้เกิดการอักเสบ และการหายของแผลช้ากว่าปกติ หากมีแผลบริเวณช่องท้องไม่ควรยกของหนัก
- รับประทานอาหารที่ส่งเสริมการหายของแผล เช่น อาหารพวกเนื้อสัตว์ ถั่ว ไข่ขาว นม ผัก ผลไม้รสเปรี้ยว หลีกเลี่ยงของหมักดอง อาหารที่ทำให้เลือดออก เช่น โสม เครื่องดื่มชูกำลัง คอลลาเจน
- ไม่ใช้มือสัมผัส แคะ หรือเกาบาดแผล รักษาความสะอาดของบาดแผล และร่างกายทั่วไปเพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่บาดแผล
- งดสูบบุหรี่ และงดดื่มสุรา เพราะจะทำให้แผลหายช้า
- กรณีที่เป็นโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน และมีแผลเจาะดูค่าน้ำตาลทุกวันจันทร์ที่ห้องทำแผล โรคไต โรคความดันโลหิตสูง จะทำให้การหายของแผลช้ากว่าปกติ กรณีทานยาละลายลิ่มเลือดต้องแจ้งแพทย์ด้วยทุกครั้ง
- ไม่ควรใช้สมุนไพร หรือผงโรยแผลปิดลงบนแผล เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้
- รับประทานยาตามที่โรงพยาบาลจัดให้ โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะต้องทานให้ครบ
- มาตรวจทุกครั้ง หากแพทย์กำหนดนัด
- หากมีไข้ และปวดแผลมากขึ้น รอยแผลบวมแดงควรรีบกลับมาพบแพทย์ เพื่อตรวจซ้ำ โดยสามารถมาก่อนนัดหมายได้
- หากมีนัดฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก ให้มาตามนัดที่กำหนดทุกครั้ง เพื่อประโยชน์ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง : petcharavejhospital.com