พ.ร.บ. คืออะไร แล้วต่างกับ ป้ายภาษี อย่างไร  ซึ่งสำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ทุกคนควรทราบ

พ.ร.บ. รถ คืออะไร

สำหรับชื่อเต็มของ พ.ร.บ. รถ คือ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (Compulsory Third Party Insurance) ย่อมาจาก พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งเป็นกฎหมายที่รถทุกคันต้องมี บังคับให้ทำเป็นขั้นพื้นฐาน! เนื่องจากรถทุกคัน ไม่ว่าจะเป็น รถส่วนบุคคล, รถมอเตอร์ไซค์, รถโดยสาร, รถบรรทุก, รถที่ใช้ในราชการ หรือรถพลังงานทางเลือก ฯลฯ จะต้องจดทะเบียนกับทำ พ.ร.บ. กรมการขนส่งทางบก

พ.ร.บ. เป็นกระดาษมีขนาดเท่า A4 ที่ออกให้โดยบริษัทประกันภัย มีความคุ้มครองเอาไว้เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าความเสียหาย และดูแลค่ารักษาพยาบาลเมื่อบาดเจ็บทางร่างกาย หรือเสียชีวิตหากเกิดอุบัติเหตุ โดยมีความคุ้มครองเบื้องต้น ดังนี้
– ค่ารักษาพยาบาล 30,000 บาท/คน
– กรณีเสียชีวิต 35,000 บาท/คน

และหากพิสูจน์ว่าเป็นฝ่ายถูก รับวงเงินคุ้มครองเพิ่ม
– ค่ารักษาพยาบาลจากการบาดเจ็บ 80,000 บาท/คน
– เสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาท/คน

หากเกิดอุบัติเหตุจริง ๆ สามารถเบิกจ่ายค่ารักษาและค่าสินไหมจาก พ.ร.บ. รถกับ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ภายใน 180 วัน (6 เดือน) นับจากวันเกิดเหตุ และต้องเตรียมเอกสารเบิกเคลม พ.ร.บ. แนบด้วย ดังนี้

สำเนาบัตรประชาชน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง

สำเนาใบขับขี่ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง

สำเนาทะเบียนรถ

สำเนาทะเบียนบ้านทั้งของฝ่ายถูกและผิด (สำเนาบัตรประชาชนของทายาทในกรณีที่ผู้ประสบภัยเสียชีวิต)

หลักฐานใบแจ้งความ หรือบันทึกประจำวันจากตำรวจ

ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล

ใบรับรองแพทย์

เอกสารหน้าตาราง พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์

(และหลักฐานอื่น ๆ ที่อาจมีการร้องขอเพิ่มเติม)

พ.ร.บ. เป็นสิ่งที่รถทุกคันต้องมี เพราะเป็นประกันภัยภาคบังคับ เนื่องจากรถทุกประเภทต้องจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก หากไม่ทำจะถือว่าผิดกฎหมาย และมีค่าปรับ ดังนี้
– ปรับคนขับไม่เกิน 10,000 บาท
– ปรับเจ้าของรถไม่เกิน 10,000 บาท
– ถ้าคนขับกับเจ้าของรถเป็นคนเดียวกัน ปรับไม่เกิน 20,000 บาท

ป้ายภาษี คือ ป้ายสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก เท่าฝ่ามือ สีชมพูฟ้า มี (ระบุ) ปี พ.ศ. ตัวใหญ่

โดยจะต้องทำการต่อพ.ร.บ. ให้เสร็จก่อนและนำเอกสารนี้ทำการจ่ายภาษีรถกับกรมขนส่งทางบก แล้วนำป้ายภาษีมาติดที่ตัวรถเพื่อแสดงให้รู้ว่า รถคันนี้ชำระภาษีแล้ว ซึ่งหากขาดต่อภาษี อาจทำให้ทะเบียนรถถูกระงับ กลายเป็นรถผิดกฎหมายทันที และมีค่าปรับ ดังนี้
– รถมอเตอร์ไซค์ คิดค่าปรับ 1% ต่อเดือนของค่าภาษี
– ต้องตรวจสภาพรถก่อนทุกครั้งสำหรับรถจักรยานยนต์ที่มีอายุเกิน 5 ปี

ในกรณีที่ขาดต่อภาษีเกิน 3 ปี ต้องจดทะเบียนเล่มใหม่
สามารถต่อภาษีล่วงหน้าได้ 3 เดือนก่อนวันสิ้นอายุ

ผู้ใช้มอเตอร์ไซค์หลายคนไม่อยากแสดงป้ายภาษี เนื่องจากลักษณะของป้ายจะทำให้รถมอเตอร์ไซค์ดูไม่สวย จึงตัดสินใจที่จะเก็บไว้ใต้เบาะแล้วค่อยแสดงให้เจ้าหน้าที่ดู ถือว่าผิด! ตามกฎหมายที่ต้องแสดงแผ่นป้ายเครื่องหมายให้ครบ ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถเอาผิดกับเราได้ตามกฎหมายกำหนด

สำหรับใครที่ไม่อยากติดป้ายภาษีให้เห็น แต่ก็กลัวที่จะโดนเรียกค่าปรับจากเจ้าหน้าที่ สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ง่าย ๆ เพียงแค่ใช้ “แคปซูลเก็บป้ายภาษี” ซึ่งจะคอยปกป้องป้ายภาษีให้ปลอดภัยจากการชำรุดเสียหาย และทำให้คุณแสดงป้ายภาษีแก่เจ้าหน้าที่ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง :  724ประกันออนไลน์ / Frank.co.th / AP Honda