บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK ผู้นำในการให้บริการเช่าซื้อ รถจักรยานยนต์รายใหญ่ รายงานผลประกอบการ ไตรมาส 2 ปี 2564 กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 142.6% จาก 48.8 ล้านบาท เป็น 118.4 ล้านบาท รายได้รวม 499.5 ล้านบาท ลดลง 19.7% จาก 622.3 ล้านบาท

เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ที่ผ่านมา ภาพรวมครึ่งปีแรกกำไรสุทธิ 215.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51.1% จาก 142.8 ล้านบาท รายได้รวม 1,038.3 ล้านบาท ลดลง 23.8% จาก 1,363.2 ล้านบาท เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกในปี 2563 เผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจในวงกว้างทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย หนี้ครัวเรือนในประเทศปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 90.5% ของ GDP ณ สิ้นไตรมาส 1 ปีนี้ คาดมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอีก มองสถานการณ์มหาวิกฤตยังไม่สามารถประเมินผลกระทบทั้งหมด TK เดินหน้ากลยุทธ์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ และมีสภาพคล่องสูงสุดเป็นประวัติการณ์โดยมีเงินสดและเงินฝากธนาคารรวม 2,335 ล้านบาท เพื่อพร้อมลุยการซื้อกิจการ MFIL ในพม่าเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย และเพื่อกลับมาเร่งขยายตัวทันทีที่สถานการณ์ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น

นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติงบการเงินสำหรับรอบบัญชีสิ้นสุด 30 มิถุนายน 2564 บริษัทฯ มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,038.3 ล้านบาท ลดลง 23.8% จาก 1,363.2 ล้านบาท ในขณะที่กำไรสุทธิ 215.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51.1% จาก 142.8 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนช่วงเวลาเดียวกัน โดยในไตรมาส 2/2564 มีกำไรสุทธิ 118.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 142.6% จาก 48.8 ล้านบาท รายได้รวม 499.5 ล้านบาท ลดลง 19.7% จาก 622.3 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน โดยมีลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้เงินให้กู้ยืมสุทธิรวม 3,947.6 ล้านบาท ลดลง 14.0% จาก 4,591.3 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563

“ผลประกอบการภาพรวมยังคงมีกำไร ซึ่งเกิดจากบริหารจัดการทั้งการหารายได้เพิ่มขึ้นจากรายได้อื่นๆ การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายโดยรวมภายในองค์กร รวมทั้งการบริหารต้นทุนทางการเงินในภาวะวิกฤตที่มีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งในประเทศของเรา การปล่อยสินเชื่อกับกลุ่มลูกค้าที่เปราะบางจากสถานการณ์ของโรคระบาดในระลอก 3 จึงจำเป็นต้องเข้มงวด มากกว่าการพยายามแย่งชิงลูกค้าโดยไม่คำนึงถึงความสามารถในการจ่ายค่างวดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้ TK ยังคงใช้กลยุทธ์ระมัดระวังกับการปล่อยสินเชื่อ และมีสภาพคล่องสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีเงินสดและเงินฝากธนาคารรวม 2,335 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ TK มีความพร้อมเสมอที่จะเร่งขยายธุรกิจทั้งภายในประเทศและที่ต่างประเทศทันทีที่สถานการณ์ต่าง ๆ คลี่คลาย” น.ส.ปฐมา กล่าว

ทั้งนี้ ถึงรายได้รวมลดลง แต่รายได้อื่นๆ ของ TK ในไตรมาส 2 ปี 2564 จำนวน 134.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.5% จาก 104.1 ล้านบาท โดยครึ่งปีแรกมีรายได้อื่นๆ รวม 286.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.5% จาก 239.9 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารจัดการด้านการติดตามหนี้ ด้วยการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อติดตามหนี้ค้างชำระโดยเฉพาะ เพื่อติดตามลูกหนี้ให้ชำระค่างวดอย่างสม่ำเสมอ ในขณะที่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายรวมในไตรมาส 2 ปี 2564 ได้ลดลง 38.1% เหลือ 336.7 ล้านบาท จาก 544.1 ล้านบาท โดยรวมตลอดครึ่งปีแรกสามารถบริหารค่าใช้จ่ายรวมลดลง 35.9% เป็น 730.5 ล้านบาท จาก 1,139.7 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน โดยมีการลดต้นทุนนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในทุกหน่วยงาน เพื่อลดเอกสารและลดการทำงานซ้ำซ้อน ด้านต้นทุนทางการเงิน TK บริหารจัดการแหล่งต้นทุนทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ไตรมาส 2 ปี 2564 มีจำนวน 7.6 ล้านบาท ลดลง 64.3% จาก 21.3 ล้านบาท รวมตลอดครึ่งปีแรกต้นทุนทางการเงินมีจำนวน 17.9 ล้านบาท ลดลง 60.8% จาก 45.7 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา

ทางด้าน นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวเพิ่มเติมว่า ณ ไตรมาส 2 ปี 2564 TK มีลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้เงินให้กู้ยืมสุทธิรวม 3,947.6 ล้านบาท ลดลง 14.0% จาก 4,591.3 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 จากนโยบายเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อต่อเนื่องมากว่า 2 ปี แต่เนื่องจากไม่ได้ใช้สิทธิผ่อนปรนการจัดชั้นลูกหนี้ตามมาตรการผ่อนปรนชั่วคราวของสภาวิชาชีพบัญชีของประเทศไทย ทำให้สำรองลูกหนี้สูงกว่าผู้ประกอบการประเภทเดียวกันที่ใช้มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2563 ณ ไตรมาส 2 ปี 2564 มีจำนวน 490.7 ล้านบาท ลูกหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน 9.1% Coverage Ratio เท่ากับ 120.9% ซึ่งเปรียบเทียบกับ ณ สิ้นปี 2563 ที่มีสำรองลูกหนี้ จำนวน 561.7 ล้านบาท ลูกหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน 9.2% Coverage Ratio เท่ากับ 118.3% ณ ไตรมาส 2 ปี 2564 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 6,780.3 ล้านบาท ลดลง 7.8 % จาก 7,356.8 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 และมีหนี้สินรวม 1,392.0 ล้านบาท ลดลง 30.4% จาก 2,000.5 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563

“จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทั่วโลก ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ทำให้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลกระทบโดยตรงกับการบริโภคในประเทศ อีกทั้งหนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 90.5% ของ GDP ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2564 และยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นอีก ทั้งนี้ จากสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่สามารถประเมินผลกระทบทั้งหมดที่จะเกิดจากสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างชัดเจน และคาดว่าจะยังคงเผชิญอีกหลายปัจจัยเสี่ยง จึงส่งผลให้ TK คงนโยบายระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อและการควบคุมคุณภาพลูกหนี้อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อผลประกอบการของบริษัทในระยะกลาง และระยะยาวต่อไป ในขณะที่ยังมีเงินสดพร้อมที่จะสามารถนำไปใช้ในการซื้อกิจการ MFIL ในพม่า ตามที่ได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2563 ทันทีที่สามารถเข้าไปดำเนินกิจการได้ รวมถึงนำไปใช้ในการเร่งขยายพอร์ตลูกค้าในประเทศเมื่อสถานการณ์ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นทันที” นายประพล กล่าวทิ้งท้าย

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง : mgronline.com

เกี่ยวกับบริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน)
บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการ สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ รายใหญ่ของประเทศ ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 1,900 คน มีสาขาบริการรวม 75 สาขา มีบริษัทลูก ในประเทศ 3 บริษัท และต่างประเทศ 3 บริษัท คือ กัมพูชา ลาว พม่า ให้บริการลูกค้าเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ทั้งใน และนอกประเทศ โดยมีลูกค้าประมาณ 300,000 ราย